STI ผนึก 'กลุ่มเจริญ' เปิดทางสร้าง 'ความมั่งคั่ง'

6 เดือนปิดดีล !! 'สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์' ร่วมทุน 'กลุ่มเจ้าสัวเจริญ' เสริมทัพธุรกิจเติบโต 'จุดขาย' หุ้นน้องใหม่ไอพีโอ เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ 19 ธ.ค.นี้ 'สมเกียรติ ศิลวัฒนาวงศ์' ซีอีโอ ส่งซิกทุนใหญ่เปิดช่องทางรับงานออกแบบก่อสร้างบริษัทใน

ไม่ได้เป็นเพียงหนึ่งในผู้ถือหุ้น บมจ. สโตนเฮ้าจ์ อินเตอร์ หรือ STI หุ้นไอพีโอน้องใหม่ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ จำนวน 68 ล้านหุ้น คิดเป็น 25.37% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท เข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ราคาหุ้นละ 6.30 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท คิดเป็นเงินระดมทุน 428.40 ล้านบาท 

ทว่า บริษัท ยูนิเวนเจอร์ แคปปิตอล จำกัด ในฐานะบริษัทย่อยของ บมจ.ยูนิเวนเจอร์ หรือ UV ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็น 'กลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี' ที่ถือหุ้น STI สัดส่วน 26.12% (ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้นไอพีโอ) 

ยังเป็นผู้ที่เข้ามาเสริมโอกาสการขยายธุรกิจอีกเพียบ สะท้อนผ่านการคว้างานโครงการใหญ่ระดับประเทศอย่าง 'โครงการ วัน แบงค็อก' (One Bangkok) มูลค่าโครงการ 1.2 แสนล้านบาท และยังมีงานโรงพยาบาลอีกหลายแห่งด้วย...!!

'โครงการ One Bangkok ถือว่าเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ เป็นโอกาสของกลุ่ม STI ให้ได้รับงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการประมูลงานใหม่ๆ เพื่อสร้างการรับรู้รายได้อย่างแข็งแกร่งในระยะยาว'

ปัจจุบัน สโตนเฮ้าจ์ อินเตอร์ ถือหุ้นผ่านสองกลุ่มใหญ่ คือ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ แคปปิตอล จำกัด จำนวน 70,000,000 หุ้น คิดเป็น 26.12% 'สมเกียรติ ศิลวัฒนาวงศ์' จำนวน 40,000,000 หุ้น คิดเป็น 14.93 และ 'ไพรัช เล้าประเสริฐ' จำนวน 30,000,000 หุ้น คิดเป็น 11.19%

'ผู้บริหารมีชื่อเสียง มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในธุรกิจมากกว่า 30 ปี ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ทั้งภาครัฐและบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศไทย รวมถึงมีประสบการณ์ในงานด้านอนุรักษ์โบราณสถานอย่างโดดเด่น ซึ่งมีคู่แข่งน้อยราย ความโดดเด่นเหล่านี้ ทำให้เราได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า'

'สมเกียรติ ศิลวัฒนาวงศ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ หรือ STI เล่าสตอรีโดดเด่นให้กับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ก่อนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ประมาณ 2 ปี สโตนเฮ้าจ์ อินเตอร์ ใช้เวลาปรับทัพองค์กร ด้วยการเพิ่มทุนให้ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ แคปปิตอล จำกัด จำนวน 35% มูลค่า 400 ล้านบาท 

โดยปลายปี 2558 มีคนแนะนำให้รู้จักกับ 'ยูนิเวนเจอร์ แคปปิตอล' ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ 'เจ้าสัวเจริญ' ซึ่งมีความสนใจเข้ามาเป็นพันธมิตรด้วย ประจวบเหมาะเป็นจังหวะที่บริษัทกำลังปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าตลาดหุ้นพอดี จึงตัดสินใจขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 35% ให้กับยูนิเวนเจอร์ แคปปิตอล 

สอดคล้องกับกลุ่มเจ้าสัวเจริญก็มีความต้องการขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และมองว่าธุรกิจของสโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ มีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเข้ามาถือหุ้นโดยปัจจุบันกลุ่มเจ้าสัวเจริญมีธุรกิจอสังหาฯ ภายใต้ กลุ่มบริษัททีซีซีแลนด์ กรุ๊ป อาทิ บมจ. ยูนิเวนเจอร์ หรือ UV , บมจ. แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นต์ หรือ GOLD เป็นต้น 

'เราใช้เวลาคุยในรายละเอียดและศึกษาธุรกิจกันร่วม 6 เดือน ประกอบกับบริษัทไม่ยึดติดตามตัวบุคคล'

ปัจจุบัน 'สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์' แบ่งธุรกิจเป็น 2 ประเภท คือ 1.ธุรกิจที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง (Consulting and Project Management) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 88.82% และ 2.ธุรกิจให้บริการออกแบบงานด้านสถาปัตยกรรม (Architectural Design) และวิศวกรรม (Engineering Design) งานตกแต่งภายใน (Interior Design) และงานอนุรักษ์โบราณสถาน (Historical Conservation) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 11.18% 

เขา บอกต่อว่า หลังจากกลุ่มเจ้าสัวเจริญเข้ามาถือหุ้นแล้ว ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานเลยปล่อยอิสระให้ทำงานแบบมืออาชีพ จะเข้ามาดูในส่วนของผลการดำเนินงานและเม็ดเงินในการลงทุนเท่านั้น แต่ในแง่ของธุรกิจกลับเปิดช่องทางให้บริษัทสามารถเสนองานซึ่งอยู่ในเครือได้มากขึ้น และทำให้ช่องทางการขยายตัวของบริษัทเติบโตได้สูงขึ้น แต่บริษัทก็ยังต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ เช่นกัน

ขณะที่เดียวกันในส่วนของพันธมิตรในแง่ของธุรกิจบริษัทก็เข้าไปช่วยบริหารงานทำให้งานของบริษัทในเครือของกลุ่มเจ้าสัวเจริญมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีต้นทุนถูกลง 

'ลักษณะการทำธุรกิจของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ หากมีการลงทุนในกิจการใดแผนการลงทุนก็จะต่อยอดและดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้มีลักษณะการเข้ามาปั้นและขายออก ฉะนั้นในส่วนนี้นักลงทุนมีความสบายใจได้'

สำหรับลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์กว่า 80% และบริษัทได้รับความไว้วางใจให้ดูแลโครงการใหญ่ๆ ของประเทศอย่างต่อเนื่องมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นงานควบคุมงานก่อสร้างสถาบันวิทยสิริเมธี และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ ห้างสรรพสินค้าเทอมินัล 21 ที่โคราช และปัจจุบันได้รับความไว้วางใจให้ดูแลการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าเทอมินัล 21 ที่พระราม 3

นอกจากนี้ 'จุดเด่น' ของบริษัทคือ บริษัทมีบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทางธุรกิจ พร้อมด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และศักยภาพในการเติบโตของกลุ่ม STI ที่สอดคล้องกับการขยายตัวของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐบาลและภาคเอกชน 

ก่อนแจกแจงแผนธุรกิจในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า (2562-2566) บริษัทจะเน้นการดูแลฐานลูกค้าเดิม ด้วยการให้บริการที่มีคุณภาพดีขึ้น รวมทั้งเน้นการพัฒนาบุคลากร ระบบไอที เพื่อรองรับการทำงานให้มีมาตรฐานสากล และก้าวสู่ความเป็นผู้นำทางด้านการบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง และจะเน้นขยายฐานลูกค้าเข้าไปที่ส่วนของภาครัฐมากขึ้น รวมถึงมีแนวโน้มที่จะขยายงานไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นด้วย 

'ผลประกอบการปี 2561 ทั้งในแง่รายได้และกำไรจะทำสถิติสูงสุดใหม่ โดยที่ผ่านมาบริษัทมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี'

ปัจจุบัน บริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 770.09 ล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวน 114 โครงการ ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ไปจนถึงปี 2563 แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้มาจากงานภาคเอกชน 83.90% , ภาครัฐฯ 13.47% , ศาสนสถาน 1.37% และอื่น ๆ 1.26% 

สำหรับการระดมทุนในครั้งนี้ วางแผนจะนำไปลงทุนจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมทักษะความรู้พนักงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ประมาณ 40 ล้านบาท ลงทุนอุปกรณ์ระบบคอมพิวเตอร์ โปรแกรมด้านการออกแบบ ควบคุมงานก่อสร้าง และการเงิน-การบัญชี ประมาณ 30 ล้านบาท ลงทุนงานระบบและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ประมาณ 20 ล้านบาท ส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ และเงินทุนในการเข้าลงทุนในกิจการอื่นๆ เพิ่มขีดความสามารถของกลุ่ม STI ให้ได้มาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น พร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในประเทศไทยและในระดับภูมิภาคต่อไป

'นำเงินไปลงทุนจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมทักษะความรู้พนักงาน 40 ล้านบาท ลงทุนอุปกรณ์ระบบคอมพิวเตอร์ โปรแกรมด้านการออกแบบ ควบคุมงานก่อสร้าง และการเงิน-การบัญชี ประมาณ 30 ล้านบาท ลงทุนงานระบบและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ประมาณ 20 ล้านบาท และส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ และเงินทุนในการเข้าลงทุนต่างๆ' 

อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า บริษัทยังมองโอกาสการขยายงานใน 'ต่างประเทศ' โดยเห็นว่าทิศทางการเติบโตในประเทศเพื่อนบ้านมีการขยายตัวทางด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกัมพูชา มีการขยายงานก่อสร้างจำนวนมาก ส่วนใหญ่ว่าจ้างผู้ออกแบบจากประเทศไทยไปทำงานไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง เช่น โรงแรม รีสอร์ท ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน จึงเป็นจุดที่มองว่ามีศักยภาพในการขยายธุรกิจเข้าไปเป็นลำดับต้นๆ 

ขณะเดียวกัน ประเทศเมียนมาก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จึงเป็นประเทศที่บริษัทมองไว้ โดยปัจจุบันมีการเข้าไปดูแลทางด้านการควบคุมงานก่อสร้างของเมียนมาที่เมืองย่างกุ้ง และประเทศกัมพูชาที่ กรุงพนมเปญแล้ว แต่การจะไปขยายโดยการตั้งสำนักงานนั้นยังคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

ด้านผลประกอบการของกลุ่ม STI ในช่วงที่ผ่านมา มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปี 2561 มีรายได้จากการให้บริการ 443.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.31% เทียบกับงวดเดียวกันของปี 2560 ที่มีรายได้ 346.01 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิงวด 9 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 30.48 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ในธุรกิจบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณงานที่ให้บริการในงวดดังกล่าว เช่น โครงการ One Bangkok และ โครงการ The PARQ เป็นต้น

ท้ายสุด 'สมเกียรติ' ทิ้งท้ายไว้ว่า ธุรกิจของเราเป็นธุรกิจที่ว่ากันจริง ๆ ไม่ได้มีกำไรหวือหวา แต่ขณะเดียวกันธุรกิจของเราตั้งแต่ผมเปิดบริษัทมา เรามีกำไรอย่างต่อเนื่อง เรามีฐานะการเงินที่มั่นคง เราไม่เคยประสบปัญหาทางด้านการเงินเลย 

 

แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ