เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง(AEC) ร่วมต้อนรับคณะนายกรัฐมนตรีฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม
โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ
เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง (AEC) บริษัทในกลุ่ม STI ให้การต้อนรับคณะนายกรัฐมนตรีฯ เข้าเยี่ยมชม ตรวจความคืบหน้าของโครงการ ก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ บริเวณงานอุโมงค์รถไฟผาเสด็จ ช่วงมาบกะเบา – หินลับ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ พร้อมด้วยผู้ว่าการรถไฟ เพื่อติดตามการดำเนินการและเตรียมพร้อมรองรับเปิดใช้งานในอนาคต
นายไพบูลย์ โชคไพรสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด (AEC) บริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมชั้นนำของประเทศ บริษัทในกลุ่ม บริษัท สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) (STI) ต้อนรับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ร่วมตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงข่ายคมนาคมระบบรางของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ บริเวณงานอุโมงค์รถไฟผาเสด็จ ช่วงมาบกะเบา – หินลับ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ในฐานะที่ปรึกษาโครงการก่อสร้าง โดยมี นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมให้การต้อนรับและนำเสนอรายละเอียดความก้าวหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างในครั้งนี้ด้วย
ซึ่งงานอุโมงค์รถไฟของโครงการฯ มีจำนวน 3 อุโมงค์ ซึ่งหนึ่งใน 3 อุโมงค์ ตั้งอยู่ระหว่างสถานีมาบกะเบา สถานีผาเสด็จ และสถานีหินลับ จ.สระบุรี มีความยาว 5.85 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นอุโมงค์คู่ รางเดี่ยว เป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีการออกแบบที่มีระบบความปลอดภัยค่อนข้างสูง ซึ่งเดินหน้าแล้ว 98% สำหรับอีก 2 อุโมงค์ ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเรียบร้อย
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ – หนองคาย และเชื่อมต่อกับสายตะวันออก ท่าเรือแหลมฉบัง – แก่งคอย ซึ่งเป็นเส้นทางเศรษฐกิจ การค้า การขนส่ง และโลจิสติกส์ เชื่อมโยงระหว่างประตูการค้าของไทยทั้งกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบัง ไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือเชื่อมโยงสู่ สปป.ลาว และจีนตอนใต้ ทั้งนี้ หากโครงการฯ แล้วเสร็จจะเป็นการช่วยเสริมประสิทธิภาพขบวนรถเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว ขบวนรถโดยสารจะสามารถทำความเร็วสูงสุดได้เฉลี่ย 100-120 กม./ชม. จากเดิม 50 กม./ชม. ขบวนรถสินค้าจะสามารถทำความเร็วสูงสุดได้เฉลี่ย 60 กม./ชม. จากเดิม 29 กม./ชม. ทำให้ลดระยะเวลาการเดินทาง มีความตรงต่อเวลาของขบวนรถ ลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น